อนุสรณ์ฯ ชวนรู้ : วันที่ ๒๗ มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันที่ระลึกกองทัพอากาศ"
น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่ทรงมีต่อกิจการบินของชาติ น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ บุพการีทหารอากาศ อดีตผู้บังคับบัญชา ตลอดจนทหารผู้เสียสละ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันวางรากฐานและพัฒนากองทัพอากาศ ให้มั่นคงและเจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้
กิจการบินของไทย เริ่มต้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อมีชาวต่างประเทศ ได้นำเครื่องบิน มาแสดงให้ชาวไทย ได้ชมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ อันทำให้ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพ ในสมัยนั้น พิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเครื่องบินไว้เพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดแก่ประเทศชาติในอนาคต ด้วยเหตุนี้กระทรวงกลาโหมได้จัดตั้ง "แผนกการบิน" ขึ้นในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก ๓ คน ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสม ไปศึกษาวิชาการ ณ ประเทศฝรั่งเศส อันได้แก่ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ) นายร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร (พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์) และนายร้อยโททิพย์ เกตุทัต (พระยาทยานพิฆาฏ) ไปเรียนการบินที่ประเทศฝรั่งเศสและดูงานกิจการการบินในยุโรป ทั้ง ๓ ท่านนี้ ต่อมากองทัพอากาศได้ยกย่องให้เป็น "บุพการีกองทัพอากาศ"
วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗ กระทรวงกลาโหม มีคำสั่งยกแผนกการบินขึ้นเป็น "กองบินทหารบก" ซึ่งถือได้ว่า กิจการการบินของไทย ได้วางรากฐานอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมา กองทัพอากาศจึงถือเอา วันที่ ๒๗ มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันที่ระลึกกองทัพอากาศ"