วันรัฐธรรมนูญ
"ประวัติศาสตร์ เอาเรื่อง..."
๑๐ ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญ
๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ถือเป็นวันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย นับเป็นการพระราชทานพระราชอำนาจแก่ปวงชนชาวไทยโดยสมบูรณ์ เพื่อแทนรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ภายหลังจากที่มีการปฏิวัติ โดยคณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕
รัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งสยามประเทศ มีทั้งหมด ๖๘ มาตรา แบ่งออกเป็นบททั่วไป หมวด ๑ พระมหากษัตริย์ หมวด ๒ สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม หมวด ๓ สภาผู้แทนราษฎร หมวด ๔ คณะรัฐมนตรี หมวด ๕ ศาล หมวด ๖ บทสุดท้าย หมวด ๗ การใช้รัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล
โดยคำปรารภของรัฐธรรมนูญย่อหน้าสุดท้าย มีข้อความสำคัญที่แสดงถึงความปรารถนาของพระองค์ว่า
"ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรของเราวันนี้ จะเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพ อันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุก สันติคุณวิบูลราศรี แก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศสยามบรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร ขอให้พระบรมราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทหาร พลเรือน ทวยอาณาประชาราษฎรจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ให้ยืนยงอยู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน สมดั่งพระบรมราชประณิธาน ทุกประการเทอญ.."
Credit : ห้องสมุด มสธ.
https://library.stou.ac.th/2024/01/prajadhipok-constitution-of-thailand-2475/